BACK TO EXPLORE

Q DESIGN AND PLAY เสื้อผ้าจากการระเบิดอารมณ์เก็บลึกในลิ้นชัก

Q DESIGN AND PLAY เสื้อผ้าจากการระเบิดอารมณ์เก็บลึกในลิ้นชัก
แฟชั่นที่อินสไปร์จากอารมณ์ข้างในของ “อาท – ประพัฒน์” ดีไซเนอร์หนุ่มช่างประชดประชัน

ถุงยาง การเมือง คำสัญญา ชีวิตวัยเด็ก การสอบที่ผิดหวัง เครื่องเขียน ผู้คนที่เจอในเซเว่น-อีเลฟเว่น โลกอิเดียตในเฟสบุ๊ค สังคมที่อาศัยอยู่ ความรักของพ่อแม่ และรถคันเก่า...

ถ้อยคำเหล่านี้ สิ่งเหล่านี้ สามารถระเบิดกลายมาเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นเท่ๆ ได้หมด หากว่ามันจุดประกายขึ้นในอารมณ์คับข้อง คับแค้น โกรธ อึดอัด หรือแม้แต่หวนไห้ถึงความงดงามในชีวิตของ “อาท – ประพัฒน์ สมบูรณ์สิทธิ์” ดีไซเนอร์และเจ้าของร้านเสื้อผ้าแฟชั่นของไทย “Q DESIGN AND PLAY” ที่ไปโด่งดังไกลถึงอังกฤษและประเทศอื่นๆ อีกหลายแห่งทั่วโลก



Irony Boyish เป็นนิยามของเสื้อผ้าที่เป็นตัวแทนของเด็กชายช่างประชดประชันปนเสียดสีของเขา โดยทุกๆ ไอเดียที่เกิดขึ้นนั้นมาจาก “เรื่อง” ต่างๆ ที่เขาเจอในชีวิตประจำวัน และมันกระแทกใจจนเขาเกิดความคุกรุ่นกับมัน จนรู้สึกว่าต้องการตะโกนออกมาแล้ว!

แต่เขากลับไม่ตะโกน
ศิลปินจะเก็บมันเข้าลิ้นชักทางความคิด และบ่ม
บ่มจนวันหนึ่งที่ประจวบเหมาะทั้งโอกาส อารมณ์ ความคิด เขาก็จะนำมันออกมาอีกครั้ง และดึงอารมณ์ที่เก็บซ่อนไว้ลึกๆ และยาวนานนั้น ออกมาจัดการมันใหม่ให้กลายเป็นดีไซน์ของเสื้อผ้า และนั่นเองที่เป็นการตะโกนที่แท้จริงของเขาที่ตะโกนมาจากความเข้มข้นภายใน



“ผมว่าผมเป็นคนชอบใช้ชีวิตแบบที่เรียกว่า..บ้านๆ มากกว่า คือปกติวงการแฟชั่นนี่ก็จะมาพร้อมกับไลฟ์สไตล์หรูหรา เจ้าสังคม แต่ผมจะไม่เป็นแบบนั้น คือผมเป็นคนเดิมแบบที่เคยเป็น ชอบอยู่เงียบๆ ไม่ชอบเจอคน ไม่ชอบเข้าสังคม คือผมเข้าใจสังคมแฟชั่นนะ และก็เคยพยายามที่จะเป็นแบบนั้นด้วยเหมือนกัน (ขำ)

แต่ผมก็แบบ..รู้สึกเหนื่อยจังเลย เหนื่อยที่ต้องพยายามเป็นอะไรซักอย่าง เพื่อแค่ว่าให้ใครมาชอบ ผมก็เลยพอ เป็นแบบที่เราเป็นดีกว่า อยู่แบบคนปกติทั่วไป ไม่มีหรูหรา คือชอบอยู่คนเดียว ขับรถ คิดงาน เอ็นจอยกับความคิด... หรือไม่ก็นอน...สมองทำงานตลอด...” ชายหนุ่มพูดถึงตัวเอง แต่จริงๆ แล้วมันคล้ายการพูดกับตัวเองมากกว่า

ความที่หมกมุ่นกับการคิด สันโดษ ไม่พบเจอคน แต่อ่อนไหว ทำให้แรงระเบิดภายในของเขาค่อนข้างเข้มข้นรุนแรง และอารมณ์เหล่านี้ต่อมาก็แปลงร่างและปรากฏกายกลายเป็นดีไซน์เสื้อผ้าของ Q DESIGN AND PLAY ซึ่งแต่ละคอลเล็คชั่นนั้นมี Theme อย่างชัดเจน





อย่างคอลเล็คชั่น Fall & Winter 2018 นี่มีธีมว่า ‘สัญญา’ รากเหง้าของความคิดนี้ก็มาจากเรื่องสังคมรอบตัวที่เราอาศัยอยู่นี่แหละ แต่ไม่พูดลงไปแล้วกันว่ามันแปลว่าอะไร ส่วนอีกอันที่..เอ่อ..ค่อนข้างแรงก็คือ คอลเล็คชั่น Spring & Summer 2016 อันนี้ชื่อว่า ‘You Can’t Hurry Love’ มันเกิดจากที่ผมไปเซเว่น-อีเลฟเว่น แล้วเจอเด็กวัยรุ่นไปซื้อถุงยางแบบอายๆ เรื่องนี้ทำให้คิดต่อได้เยอะว่าทำไมเราต้องอายเวลาไปซื้อถุงยาง ทั้งๆ ที่มันปกป้องเรา มันช่วยชีวิตเรา แต่พอเวลาใครซักคนจะไปซื้อ ก็จะอาย... แบบว่าเขาต้องรู้แน่ๆ เลยว่าเราจะซื้อไปทำอะไร แล้วกับเด็กวัยรุ่นของไทย เราก็คิดได้อีกว่าทำไมเด็กบ้านเราถึงได้รับความรู้เกี่ยวกับเรื่องเซ็กส์น้อยมาก และคนไทยแบบผู้ใหญ่นี่ทำไมมันถึงเป็นคนแบบว่าพูดอย่างทำอย่าง ทำแบบว่าอาย ห้ามคนอื่น แต่เราก็ทำอะไรแบบนี้...”

จากความคิดที่เขาเล่ามานั้น เมื่อกลั่นกรองเสร็จเรียบร้อยมันจึงออกมาเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นที่มีกลิ่นอายของเด็ก ชุดนอนเด็กให้ความรู้สึกนิ่มๆ มีลวดลายเป็นรูปเด็กน่ารักแต่ผสมผสานความแปลกแยก

“คือลายนี่จะเป็นเด็กแบบน่ารักแบ๊วๆ เลยนะ แต่เด็กนี่จะแต่งชุด Bondage บ้างล่ะ เด็กถือดิลโด้บ้างล่ะ และก็อื่นๆ ที่ให้ความรู้สึกนี้ แต่ไม่ถึงกับมีเซ็กส์นะ จะเป็นอะไรที่ขำๆ แบบนี้มากกว่า หรือกระเป๋าก็เป็นกระเป๋าทำจากถุงยาง อันนี้มีความฮือฮา คนชอบ...คือเวลาทำงานผมจะดาร์กเลย ลงไปในดาร์กแล้วค่อยๆ ขุดมันขึ้นมาและทำให้มันกลายเป็นมุมมองด้านบวกใหม่ๆ ให้มันสนุก ให้คนเกิดอารมณ์ขัน  และที่เน้นคือทำเสื้อผ้าให้มัน Universal คือให้คนไทยเข้าใจ และต่างชาติก็เข้าใจได้ด้วย ทำให้มันเป็นภาษาสากล...”


คอลเล็คชั่นต่างๆ  ของ Q DESIGN AND PLAY เหมือนอารมณ์ ความคิด การเติบโต และการต่อสู้กับปมขัดแย้งในใจของใครบางคนอย่างชัดเจน โดยจุดเริ่มต้นที่ทำให้ดีไซเนอร์ค้นพบแนวทางของตนเองก็เกิดขึ้นจาก “ปมบาดเจ็บ” บางอย่างที่เขาต้องการเยียวยาตัวเองเช่นกัน ปมนั้นคือปมที่เรียกว่าการสอบเอ็นทรานซ์ และมันเป็นที่มาของหลายสิ่งหลายอย่างที่ตามมา



“Mars Plastic เป็นชื่อคอลเล็คชั่นที่ทำให้เราค้นพบตัวเองชัดเจน และรู้แล้วล่ะว่าอารมณ์หรือแนวทางของเราเป็นยังไง” อาท ดีไซเนอร์หนุ่มเล่าและครุ่นคิดถึงอดีต
“จริงๆ ผมไม่รู้หรอกว่า Mars Plastic มันแปลว่าอะไร แต่มันคือคำที่เขียนไว้บนยางลบแบรนด์สเตดเลอร์ซึ่งผมใช้มันประจำ ตอนนั้นผมมีความฝันอยากเอ็นทรานซ์ติดมาก อยากเรียนจุฬา อยากเรียนศิลปากร ผมอยากเข้าศิลปกรรม อยากเข้ากราฟิค แต่..ผมเอ็นทรานซ์ไม่ติด คะแนนนผมแย่มากเลย คือมันเป็นแผล เป็นปม







วันนึงผมนึกถึงมันเลยคิดว่าจะเอาสิ่งนี้มาทำเป็นงาน ผมอยากเอาความรู้พื้นฐานทั้งหมด ความรู้ที่ทำให้เอ็นทรานซ์ไม่ติดนั่นแหละ เอามาทำเป็นเสื้อผ้าคอลเล็คชั่นนี้  คือแบบมันคับแค้นใจเลยอยากเอามันออกมา เสื้อผ้าก็เลยจะเป็น STREET WEAR OVER SIZE  ที่มีฟังก์ชั่นอย่างกระเป๋า การล็อค และลายพิมพ์ โดยลายพิมพ์นี่ก็จะเป็นลายความรู้พื้นฐานของผมนั่นแหละ ลายเส้น สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม วงกลม มีการลงสีโปสเตอร์ ดรอว์อิ้งมากมาย เอามาลงในเสื้อผ้า ส่วน Mars Plastic นี่ก็มาจากยางลบเนี่ยแหละ คือมันก็อยู่ในมือเรามาตลอดตั้งหลายปี ตอนที่เราพยายามฝึกฝนเพื่อไปสอบ คือให้มันเป็นตัวแทนความรู้ที่เราเอ็นทรานซ์ไม่ติดนั่นแหละ เลยเอามันมาทำเป็นชื่อ ซึ่งคอลเล็คชั่นนี้พอทำออกมาแล้วก็รู้สึกเลยว่าใช่ และผู้คนก็ชอบมันมากด้วย เรียกว่าประสบความสำเร็จมากที่สุดคอลเล็คชั่นหนึ่งเลย”


ความสำเร็จที่เขากำลังหมายถึงนั้นคือการที่เสื้อผ้าชุดนี้ขายหมดตั้งแต่ยังไม่เซล การที่สื่อต่างชาติมากมายในต่างประเทศอย่าง NEW YORK, VOGUE KOREA, VOGUE USA ลงบทสัมภาษณ์ของเขา การที่เซเลบริตี้ดังๆ หลายๆ คนเลือกนำเสื้อของเขาไปใส่ และหลังจากนั้นความสำเร็จที่สำคัญที่สุดคือการทำให้เขาค้นพบแนวทางของตนเอง และเริ่มสร้างสรรค์เสื้อผ้าคอลเล็คชั่นต่างๆ  ออกมามากขึ้นเรื่อยๆ และแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งหมดนี้ มันมาจากการเชื่อฟังและซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตนเอง การเลือกอยู่แบบ “บ้านๆ” ไม่ยุ่งกับใคร การเอ็นจอยกับความคิดโดยใช้ชีวิตออกนอกสังคมอย่างที่เขาชอบ การเจอไอเดียต่างๆ ในชีวิตแล้วจับใส่ลิ้นชักไว้ บ่ม และรอวันนำออกมาระเบิดอีกครั้ง ให้กลายเป็นเสื้อผ้าของ Q DESIGN AND PLAY นั่นเอง

แวะไปลองดูเสื้อผ้าแฟชั่นในแบบของ Q DESIGN AND PLAY ได้ที่ชั้น 1 สยามเซ็นเตอร์



YOU MAY ALSO LIKE