BACK TO EXPLORE

PYRA แบรนด์กระเป๋ารูปทรงเก๋ที่ไม่ยอมแพ้กับคำว่า “ดีไซน์”

PYRA แบรนด์กระเป๋ารูปทรงเก๋ที่ไม่ยอมแพ้กับคำว่า “ดีไซน์”
ความสนุกในการเปลี่ยนทรงกระเป๋าไปเรื่อยๆ ที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน

เมื่อวันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สยามเซ็นเตอร์มีป๊อบอัพสโตร์แบรนด์กระเป๋าเปิดใหม่ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น เดินผ่านครั้งแรกก็ต้องแวะดู เราได้ติดต่อไปที่ดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้งแบรนด์ ต้นหลิว - ธัญลักษณ์ วัชรสถาพรพงศ์ หญิงสาวอายุ 29 ปี แต่ผ่านประสบการณ์การทำธุรกิจล้มแล้วลุก ไม่ท้อลุยต่อไปข้างหน้า เพราะแรงบันดาลใจที่ดีๆ ทำให้เรายิ่งชอบกระเป๋าของแบรนด์นี้เพิ่มอีกเป็นทวีคูณ

 

นักศึกษาที่อยากเป็นแม่ค้าขายเสื้อผ้า
ก่อนที่จะมาเป็นแบรนด์ PYRA คงต้องเริ่มเล่าชีวิตที่ผกผันของคุณหลิวเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เธอเรียนจบด้าน Business Japanese มาจากเอแบค ยังไม่ทันจะเรียนจบรับปริญญา คุณหลิวก็นึกสนุก เอาความชอบขายของไปรับเสื้อผ้ามาขายที่ตลาดนัด แต่การขายของเธอผสมกับความคิดด้านการตลาด ใช้รสนิยมในการเลือกของที่แมทช์กับคนที่เดินแถวนั้นซึ่งเป็นผู้หญิงทำงาน จับทางได้ว่าผู้หญิงชอบใส่เสื้อผ้าที่ดูผอมและทำให้ดูขาว เธอสร้างความแตกต่างจนมีลูกค้าชาวสิงคโปร์มาติดต่อมา “เขาถามว่าเราออกแบบเสื้อผ้าได้มั้ย เราบอกไปว่าได้ เลยรับมาผลิตแบบ OEM เราวิ่งหาช่าง หาผ้า แล้วเอาเงินเก็บตอนที่เรียน 50,000 บาท เพราะคุณแม่สอนให้หยอดกระปุกตั้งแต่เด็ก ตอนแรกตั้งใจจะเอาเงินก้อนนี้ไปเรียนต่อ แต่คิดว่าเราชอบทำงานมากกว่า เลยลองดู 50,000 สุดท้ายลงไปกับเสื้อผ้า”



ธุรกิจที่ดูเหมือนเป็นไปด้วยดี
คุณหลิวบอกว่าตอนนั้นเธอไม่ได้เป็นดีไซเนอร์ ไม่มีโรงงาน แต่ทุกงานที่ได้มาต้องทำการบ้านเสมอ “เราศึกษาว่าคนสิงคโปร์มีรูปร่างยังไง ใช้ชีวิตแบบไหน การใช้สีในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน อากาศร้อนหนาวต่างกัน อย่างคนสิงคโปร์จะสะโพกใหญ่ เราจะใช้ผ้าที่ไม่ใช่ชีฟองที่ดูพองโต ใช้ผ้าที่ทิ้งตัวหน่อย ใช้วิธีคุยจากเพื่อนสิงคโปร์หาจากในอินเตอร์เน็ต หลิวไปหาช่างก็อธิบายว่าอยากได้ช่วงบนแบบนี้ช่วงล่างแบบนี้ เขาเขียนตามแพทเทิร์นตามที่หลิวบอกจนเมื่อปี 2554 ที่น้ำท่วม ช่วงนั้นมีปัญหาเยอะมาก เพราะเราเครดิตผ้าไปไว้ที่บ้านช่างเยอะ พอน้ำท่วมช่างก็เอาผ้าเราไปหมดเลย เป็นการทำธุรกิจครั้งแรกและพลาดครั้งแรก”

“หลิวเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง เพราะเป็นจุดที่ทำให้เกิดแบรนด์ PYRA เพราะเราไม่รู้เรื่องงานแพทเทิร์น การตัดเย็บ ไม่สามารถคุมงานช่างได้ หลิวอยู่นิ่งๆ อยู่บ้านเฉยๆ อยู่ 1 ปี เราทำอะไรไม่ถูก เรียนจบมาไม่เคยเจออะไรที่หนักขนาดนี้ เสียหายหลายแสน จากธุรกิจกำลังดีซื้อบ้านผ่อนบ้าน ไม่ทำอะไรจนเงินเก็บเหลือ 10,000 บาท ด้วยความที่เราไม่ขอเงินแม่ตั้งแต่เรียนจบ ทั้งที่แม่ก็อยากช่วยนะคะ เราคิดว่าต้องหาทางกลับมาทำธุรกิจอีกครั้ง หาแรงบันดาลใจ เราชอบแนวแฟชั่น แต่ธุรกิจเสื้อผ้าค่อนข้างอิ่มตัว”

“วันนั้นเซ็งๆ เปิดดูนิตยสารเห็นดาราฮอลลีวูดเดินถือกระเป๋า คิดว่าถ้าเขาถือกระเป๋าที่เราออกแบบคงเจ๋งมาก เสิร์ชในกูเกิ้ลหาที่เรียนเลย ไปเจอที่นึง ให้เรียนตลอดชีพ 10,000 บาท เฮ้ย! หมื่นสุดท้ายของเรา ตอนนั้นบ้ามากๆ ขอตังค์แม่ 500 บาทเป็นค่ากิน  กำ 10,500 บาท บอกว่าอาจารย์คะ หนูเหลือ 10,000 บาทสุดท้ายกับ 500 ที่หนูต้องเอาไว้กินทั้งอาทิตย์ หนูจะเรียนกับอาจารย์ เราไม่บอกแม่หรอกว่าเหลือหมื่นเดียว ก็บอกว่ายังพอเหลือ แล้วไปเรียนได้ 6 เดือน ตั้งแต่เขียนแพทเทิร์น เย็บและเก็บงาน อาจารย์บอกว่ามีความรู้ระดับหนึ่งแล้ว ออกไปทำอะไรเองได้แล้ว หลิวก็บอกว่าหนูไม่มีเงินซื้อจักร เราเลยขอยืมใช้จักรบ้านอาจารย์ก่อนได้มั้ย ตอนนั้นรับเย็บตั้งแต่ถุงผ้า 20 บาท รับหมดเลยทั้งพียู ถุงผ้า เครื่องหนัง เพื่อเก็บเงินซื้อจักร อาจารย์ใจดีมาก น่าจะเห็นความมุ่งมั่นของเรา เพราะที่ไปเรียนส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายไปเรียนเครื่องหนัก ใช้งานมืองานเย็บ”

 

ยิ่งยาก ยิ่งท้าทาย
จากเป็นคนใจร้อน แต่การเรียนเย็บกระเป๋าฝึกให้เธอเป็นคนใจเย็น มีสมาธิ มีความคิด คุณหลิวได้เจออาจารย์ที่เปิดกว้างอยากได้กระเป๋ารูปทรงไหนสอนหมด ใบแรกที่เธอเลือกทำคือกระเป๋าสาน “เราเลือกงานที่ยากๆ มีทุกเทคนิคอยู่ในใบเดียว เพราะเราไม่อยากเสียเวลามาก อยากทำธุรกิจ มีเทคนิคพับริม ทาสีขอบ มีทุกอย่าง ไปหาจากหนังสือญี่ปุ่น ใบนั้นทำอยู่ 2 เดือน เป็นใบแรกที่ทำให้เรารู้เทคนิคทุกอย่างในการทำกระเป๋า เขียนแพทเทิร์น ก็ทำใบเล็กใบใหญ่ออกมา”

 

ฉีกกรอบกระเป๋าต้องสี่เหลี่ยม
“หลิวก็ถามอาจารย์ว่าทำไมกระเป๋าต้องเป็นสี่เหลี่ยม ช่วงนั้นจะมีกระเป๋าวงกลมออกมา เรารู้สึกว่ากระเป๋าจริงๆ ไม่ได้จำกัดแค่สี่เหลี่ยม น่าจะสนุกกว่านั้นได้ กระเป๋าสามเหลี่ยมไม่มีเหรอ เลยไปหาใน pinterest ดูก็ไม่มีจริงๆ เราถามว่าทำไมคนไม่ชอบสามเหลี่ยม ซึ่งคำตอบคือปากมันแคบ ถึงก้นจะกว้างก็จริง ด้วยความที่สามเหลี่ยมพื้นที่จะน้อย เราเลยคิดว่าไม่ได้เหรอ ต้องได้สิ กลับบ้านเขียนแพทเทิร์น ใส่ของยังไงให้ได้เยอะแล้วปากกว้างด้วย เขียนๆ จนได้ triangle cube ออกมาค่ะ เป็นลูกคนแรกของแบรนด์ อย่างของเมืองนอกจะเป็นสามเหลี่ยมนิ่มๆ ยังไม่เคยมีใครทำแบบเป็นเหลี่ยมมุมชัดเจน ด้วยความแข็งยิ่งจำกัดพื้นที่จนเราได้ตัวนี้ออกมา พอเราทำสามเหลี่ยมแต่ฐานเป็นสี่เหลี่ยม ทำอยู่นานมากเกือบปี หลิวลองทำหลายแบบ ล้มลุกคลุกคลานมาก พอได้ทรงเชปที่เวิร์คแล้ว แต่ยังไม่มีอัตลักษณ์ของแบรนด์ หลิวเลยทำเป็นดันนูน 3 เส้น ตรงนี้ที่หลิวคิดขึ้นมา เพราะเวลาไปเดินข้างนอกแล้วเห็นผู้หญิงถือกระเป๋าแต่ป้ายมันเล็กมาก ดูไม่ออกว่าแบรนด์อะไร ถ้าวันนึงเราทำกระเป๋าแบรนด์ ต้องเห็นตั้งแต่ 200-300 เมตร โดยที่เขาไม่ต้องอ่านชื่อแบรนด์ เอกลักษณ์ต้องบอกได้เลย เราคิดว่าต้องมีลายอะไรซักอย่าง เป็นการดันนูนด้วยมือ”

 

เข้าสู่เวทีการประกวด
ชีวิตที่จับผลัดจับผลู ได้มาเข้างานประกวด Fashion Designer Creation 2017 จนคว้ารางวัลรองชนะเลิศมาครอง “หลิวเห็นประชาสัมพันธ์งานนี้อ่านรายละเอียดมีเวิร์คช็อป 4 วัน เราอยากเข้าเวิร์คช็อป แต่ก็สงสัยว่าทำไมต้องให้ส่งโพรไฟล์งาน เราก็ส่งที่เคยทำถุงผ้าเย็บกระเป๋า แต่วันแรกรู้เลยว่านี่คืองานประกวด ที่ผ่านมาหลิวรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง ไม่กล้าประกวดที่ไหน อย่างรอบ  Mood & Tone เราไม่รู้ว่าคืออะไร ไม่ได้เรียนการออกแบบมา คือการตัดกระดาษมาแปะเหรอ เราก็นั่งพับกระดาษไปให้กรรมการดู เพราะเขาให้เวลา 5 วัน หลิวคิดได้วันสุดท้าย เรายังติดกับพีรามิดจนไปไหนไม่ได้ คิดว่าจะไม่ไปแล้ว คิดงานไม่ออก ขยำกระดาษทิ้ง ไม่เอาไม่ประกวดแล้ว จนหยิบกระดาษขึ้นมานั่งพับเล่น พับไปพับมาเป็นกระดาษเสี่ยงทายที่เคยเล่นตอนเด็กๆ ความยากต่อไปคือทำยังไงให้เป็นกระเป๋า อย่างที่บอกหลิวก็ต้องเขียนแพทเทิร์น ความยากคือตอนทำขึ้นมาจริง คอนเซปท์ในการประกวดคือ Transformation กระเป๋าที่เปลี่ยนตัวเองได้เป็นรุ่น Play Me Twice อินสไปเรชั่นของหลิวคือเราเป็นคนขี้เบื่อ เคยซื้อเสื้อตอนไม่มีเงินแล้วอยากให้เสื้อตัวนี้เปลี่ยนสีได้ ถ้าอะไรปรับเปลี่ยนได้ด้วยตัวเองคงคุ้มและสนุก ความคิดนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่เราเรียนประถมเลย พอเราออกแบบตัวนี้มานี่คือตัวเรา คือความครีเอทีฟที่มีลูกเล่น 1 ดีไซน์สามารถแปลงร่างได้ 2 ร่าง แล้ว 2 ร่างใช้งานได้ 4 สไตล์มีทั้งสายสั้น สายยาว”

หลังจากจบงานประกวดเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คุณหลิวจดทะเบียนบริษัทและสร้างแบรนด์ที่ชื่อ PYRA ขึ้นมา ออกแบบตั้งแต่โลโก้ที่อ่านได้ทีละตัวอักษรและดูรวมกันเป็นนาฬิกาทรายมีความหมายว่า Timeless

 

PYRA Pop-Up Store แห่งแรกที่สยามเซ็นเตอร์
การมาเปิดตัวครั้งแรกกับกระเป๋าพีรามิด ซิกเนเจอร์ของแบรนด์ PYRA รวมทั้งคอลเลคชั่นที่มีทั้ง 13 รุ่นจะมาวางขายที่ชั้น M ศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ครบหมด คุณหลิว ดีไซเนอร์เล่าว่า “เรามองอยู่แล้วว่างานของเราเหมาะสมกับที่สยามเซ็นเตอร์มาก รู้สึกว่าที่นี่คือพื้นที่แสดงงาน อยากให้ทุกคนได้มาลองจับลองสะพาย ได้ฟีลกระเป๋าจริงๆ เพราะวัตถุดิบอย่างหนัง หลิวเลือกนำเข้ามาจากอิตาลี อะไหล่รับประกันได้ มีเซอร์วิสถ้ามีปัญหาสามารถเปลี่ยนกับเราได้ตลอด ดังนั้นการมาวางป๊อบอัพสโตร์ในสยามเซ็นเตอร์ถือว่าเป็นพื้นที่แหล่งรวมครีเอทีฟ แหล่งรวมดีไซเนอร์ เป็นโอกาสที่ดีที่ทุกคนจะได้มาสัมผัสกัน”

พบกับ PYRA ได้ที่ ชั้น M (หน้าร้าน ALAND) ศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

YOU MAY ALSO LIKE