BACK TO EXPLORE

‘Theatre’ มองกาลเวลาของแฟชั่นผ่านโรงละครแห่งเสื้อผ้า ดราม่า และตัวตน

‘Theatre’ มองกาลเวลาของแฟชั่นผ่านโรงละครแห่งเสื้อผ้า ดราม่า และตัวตน
ถ้ารู้จัก Theatre หนึ่งในแบรนด์เสื้อผ้าของไทยดีไซเนอร์ ก็เหมือนได้รู้จักวงการแฟชั่นไทย

3 ทศวรรษผ่านมา นับจากวันที่แฟชั่นในเมืองไทยบูมถึงขึ้นสุดจนกระทั่งวันนี้ ถ้าให้เราลองนึกดูว่ามีเสื้อผ้าออริจินัลแบรนด์ของไทยกี่แบรนด์กัน ที่สามารถยืนหยัดผ่านหลักสามสิบปีมาได้อย่างภาคภูมิ ซึ่งหากคำว่า “ภาคภูมิ” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงตัวธุรกิจเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความสง่างามของเส้นทาง ความแข็งแรงทรงอิทธิพลในวงการ รวมถึงการตกผลึกในการงาน และชีวิตของผู้ออกแบบเสื้อผ้าแบรนด์นั้นๆ ด้วยแล้วล่ะก็ บางทีหลายๆ คนอาจนึกแทบไม่ออกว่าคำตอบนี้มีอยู่จริงหรือ...

แต่หากใครเป็นหนุ่ม-สาวช่วงปลายยุค 80’s และรักหลงใหลในเสื้อผ้าแฟชั่นและการแต่งตัวมายาวนานจนวันนี้เช่นกัน ก็เชื่อได้เลยว่าเขาเหล่านั้นจะมีคำตอบผุดขึ้นในใจอย่างชัดเจนว่า...
“Theatre”





ละครก่อนม่านเปิดโรง
ที่ชั้น 1 กลาง Siam Center เสาสีขาวหน้าร้านต้นหนึ่งที่มีป้ายไฟดิจิตอลติดตั้งอยู่ ตัวอักษรในป้ายไฟที่วิ่งวนขึ้นแนวดิ่งเขียนว่า ‘Theatre Dressing Room’ แน่นอนว่าความหมายของตัวอักษรนั้นกำลังบอกถึงชื่อของแบรนด์ แต่มากกว่านั้น... มันบอกถึงตัวตนของผู้สร้างเรื่องราวทุกอย่างของกิจการนี้ขึ้นมาด้วย




“ถ้าให้พี่ตอบว่าพี่อยากเป็นอะไรระหว่าง แฟชั่นดีไซเนอร์ นักออกแบบเสื้อผ้า หรือคนทำเสื้อ อืม...” ศิริชัย ทหรานนท์ หรือ คุณจ๋อม หรือพี่จ๋อมของหลายๆ คนในวงการเสื้อผ้า ชายผู้เป็นเจ้าของความคิดทั้งหมดในโรงละครแห่งเสื้อผ้านี้ทำท่าครุ่นคิด แล้วไม่นานเขาก็ยิ้มเมื่อได้คำตอบ

“คือแบบนี้นะครับ ทั้งสามคำนี้แยกกันไม่ได้หรอกเพราะมันรวมกันอยู่ในตัวพี่ พี่เป็นหมดทั้งสามคำนี้นั่นแหละ แต่พี่ขอตอบแบบนี้ดีกว่าว่าคนทำเสื้อผ้าแฟชั่นในวงการนี้มีที่มาต่างกันไปหลายแบบ บางคนอาจจะเริ่มจากการเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ก่อนแล้วจึงค่อยกลายมาเป็นคนทำเสื้อผ้า แต่สำหรับพี่..พี่เริ่มจากคนชอบเสื้อผ้า คนทำเสื้อผ้าก่อน แล้วค่อยกลายมาเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ทีหลังครับ เรื่องราวของพี่เป็นแบบนี้...”




คำตอบที่ว่าเป็นคำตอบที่ชัดเจน ไม่แบ่งแยก และเห็นเรื่องราวของผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างมากมาย จนเหมือนประสบการณ์เหล่านั้นกลายเป็นความละเอียดอ่อนของความคิด

“เริ่มจากแบบนี้ พี่เป็นคนชอบแต่งตัวตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่เป็นเด็กนักเรียนเลย ทีนี้เราเป็นเด็กเงินทองก็ไม่ค่อยมี จะไปซื้อเสื้อผ้ามันก็มีราคาสูง พี่ก็เลยเริ่มจากดัดแปลงเสื้อผ้าเองให้มันเป็นแบบที่เราอยากแต่ง จากนั้นก็เริ่มตัดเสื้อเอง ตัดแบบที่เราอยากใส่ อยากมิกซ์แอนด์แมทช์ คือบางทีร้านก็ไม่มีแบบที่เราอยากใส่ด้วยก็เลยทำเอง ทีนี้ทำเองซักพักเพื่อนก็เห็น คนอื่นก็เห็น  ก็เริ่มมีคนที่ชอบเสื้อผ้าเรา มาบอกให้เราทำให้ จากนั้นมันก็ไปของมันเองเรื่อยๆ จากเสื้อผ้าทำเราใส่เองจนมาทุกวันนี้ นี่ไงที่พี่บอกว่าพี่เริ่มจากการเป็นเด็กชอบเสื้อผ้าก่อน แล้วค่อยเป็นคนทำเสื้อ แล้วก็มาเรื่อยๆ...”




คุณจ๋อมพาเราย้อนเดินทางผ่าน 3 ทศวรรษกลับไปสู่เรื่องราวก่อนที่ Theatre ร้านแรกจะถือกำเนิดขึ้นที่ตึกชาญอิสระทาวเวอร์ ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นธุรกิจของคนทำเสื้อผ้าอย่างชัดเจน แต่กับคำถามที่ว่า ตอนนั้นคิดยังไงถึงตัดสินใจทำร้านได้? มีแผนธุรกิจหรือวาดฝันวางแผนไว้อย่างไร? คำตอบของศิลปินนักธุรกิจผู้นี้กลับง่ายดายว่า “ไม่ได้คิดอะไร คิดแค่ว่ามันถึงเวลา”

“ตอนนั้นพี่ทำงานเป็นพนักงานขายเสื้อผ้าที่ร้าน SODA  คือเราทำงานขาย เป็นพนักงานแต่ไม่เคยรู้สึกเลยว่าเป็นพนักงาน เพราะพี่ชอบ พี่มีความสุข การทำงานที่นั่นทำให้พี่เห็นหลายๆ อย่างของร้านเสื้อ ได้ประสบการณ์ทั้งเรื่องเสื้อผ้า การเสพแฟชั่น และเรียนรู้เรื่องธุรกิจ ทีนี้พอถึงวันหนึ่ง...เราก็รู้สึกว่า เออ...นะ...มันถึงเวลาแล้วล่ะที่เราจะทำเองแล้วนะ รู้สึกแบบนี้ก็เริ่มทำ มันถึงเวลาของมัน”







การตัดสินใจเปิดร้านเสื้อผ้าเป็นของตัวเองนั้นสำหรับหลายๆ คนถือเป็นเรื่องใหญ่โตที่ต้องวางแผนกันมากมาย แต่กับ Theatre ชายผู้ผ่านร้อนหนาวมานานกลับมองย้อนไปแล้วเล่าให้ฟังตรงๆ ว่า “สำหรับพี่ พี่ไม่มีแผนมากมายเลย พี่ไม่ใช่พวกคิดไกลว่าปีนี้ปีหน้าปีต่อไปจะต้องยังไง แต่พี่ทำไปตามความพร้อม จังหวะ และก็เวลา อย่างที่บอกครับ”


มองเวทีของยุคสมัย : 80’s - 90’s Millennium และ Post Millennium
Theatre เป็นแบรนด์ที่มีเอกลักษณ์เด่นชัดหลายอย่างทั้งความเป็นยูนีค ความสนุก การมิกซ์แอนด์แมทช์ และความเป็นเฟมินีน มาสคูลีน หรือความไม่มีเพศ คือ ทุกเพศสามารถกระโดดข้ามมาเล่นสนุกกับการแต่งตัวได้อย่างไม่มีข้อจำกัด แต่การเป็นแบรนด์ที่มีเอกลักษณ์ชัดเจนมากนั้น ยังไงก็ย่อมต้องฝ่าฟันความเปลี่ยนแปลงของเทรนด์และยุคสมัยของแฟชั่นด้วย พอถึงตรงนี้แฟชั่นดีไซเนอร์ของเราได้พูดถึงความเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยต่างๆ เอาไว้ว่า

“เป็นความคิดส่วนตัวเท่านั้นนะครับ พี่มองว่ายุค 80’s นั้น วงการแฟชั่นก็ไม่เหมือนทุกวันนี้ คือวงการแฟชั่นยังมีพื้นที่ค่อนข้างมากสำหรับคนทำเสื้อผ้าหน้าใหม่ มีแบรนด์ไม่มากและมีพื้นที่ให้แทรกตัวขึ้นมาได้ มีแบรนด์น้อยมีคนซื้อเยอะ ต่างจากสมัยนี้ที่มีดีไซเนอร์เกิดใหม่ทุกวัน  แถมเศรษฐกิจไม่ดีอีก เลยมีแบรนด์มากกว่า คนซื้อน้อยกว่า”

“ส่วนเรื่องของแฟชั่นนั้น พี่มองว่ามันเป็นการวนกลับมาที่เดิมในรูปแบบใหม่ คือยุค 80’s ส่วนตัวพี่มองว่าจริงๆ ไม่ได้มีเอกลักษณ์ชัดเจนมากนักคือเป็นการเปลี่ยนผ่านมาจากยุคก่อนนั้น  แต่ยุคนั้นยังมีความสนุกมีความเยอะ ต่อมาพอ 90’s ก็เริ่มน้อยลง จากมีความเป็นดิสโก้ก็มีความเป็นร็อค มีความเป็นกรันจ์มากขึ้น  จากนั้นพอมายุคมิลเลนเนียม เข้า 2000’s นี่ก็จะมินิมอล เรียบ คลีน ลีน น้อย ไม่มีลายอะไรมากมาย แต่พอผ่านไปห้าหกปีหลัง 2000’s แฟชั่นก็ค่อยๆ กลับมาต้องการความเยอะอีกครั้ง เริ่มมีลูกเล่น มีสีสันความสนุก มีลวดลาย มีการนำของเก่ามาผสมผสานใหม่ๆ และแตกต่างรูปแบบไป แต่คือกลับมาเยอะอีกครั้ง”

คุณจ๋อมมองสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกของเขา โลกแฟชั่นด้วยสายตาและน้ำเสียงแห่งความเข้าใจ  แต่ถึงจะเข้าใจมากเท่าไหร่ ก็ไม่ได้แปลว่าตัวเขาจะต้องปรับตัวตามเทรนด์หรือกระแสเสมอไปเพราะ Theatre นั้นมีรากของตนเองอย่างชัดเจน







“แต่ตอนที่เขามินิมอลกัน Theatre ก็ไม่ได้มินิมอลนะ  เราไม่เคยทำ เราเยอะมาตั้งแต่แรก เยอะมาจนตอนนี้และมีแต่เยอะขึ้นด้วย” เจ้าของไอเดียกล่าวขำๆ “ซึ่งตอนนี้ความเยอะกลับมาแล้ว ความเยอะของแฟชั่นกลับมาแล้ว”

และเมื่อต้องมองไปยังอนาคต เขามองว่า “ตอนนี้แฟชั่นมีความหลากหลายมาก เรียกได้ว่ามีทุกสไตล์ ไม่จำกัดเลย ซึ่งใครจะทำอะไรก็ได้ ช่องทางมีเยอะมาก คือขอให้ทำให้สวยละกันและก็ขายให้ได้ด้วยละกัน  คือควรจะต้องเข้าใจตลาดของตัวเองด้วย ว่าลูกค้าของเรานั้นเขาชอบเราที่ตรงไหน”


โรงละครแห่งเสื้อผ้า
“Theatre ก็คือโรงละคร พี่ตั้งชื่อนี้เพราะชอบโรงละคร นึกถึงความเป็นโรงละคร” คุณจ๋อมตอบพร้อมเล่าเรื่องราวในอดีตของ Theatre ให้ฟัง “คือตอนที่เราเริ่มต้นทำเสื้อนี่เราทำแฟชั่นโชว์ด้วย เราทำอยู่พักหนึ่งแล้วเราก็หายไป หายไปนี่คือเรามาเน้นทำเสื้อสำเร็จรูปแล้วก็ขาย เราหายไปจากโชว์แต่ไม่ได้หายไปจากตลาด แต่ทีนี้พอเวลาผ่านไปราว 20 ปี มันเกิดแฟชั่นวีคขึ้นมา ทีนี้เขาก็มาเชิญ Theatre ไปร่วมงาน เราก็เลยกลับมา เรียกได้ว่าคัมแบ็ค ออน แฟชั่นโชว์อีกครั้ง ตั้งแต่นั้นมาตลอด 8-10 ปีจนวันนี้ เราก็กลับมาทำโชว์ตลอด คือเหมือนเป็นการรีแบรนดิ้ง และเป็นที่รู้กันเลยว่าเราจะมีโชว์ปีละ 2 ครั้งทุกๆ ปี หัวปี ท้ายปี และด้วยความที่เราเป็น Theatre หรือโรงละครเนี่ย เราก็เลยสามารถที่จะเล่นกันคอนเซ็ปต์อะไรก็ได้ อารมณ์ไหนก็ได้ คือเป็นโชว์ที่มีความเป็นละครได้ เล่นสตอรี่อะไรก็ได้ เล่นสนุกได้เต็มที่

เมื่อพูดถึงแฟชั่นโชว์ น้ำเสียง สีหน้า และแววตาของนักออกแบบเสื้อผ้าก็ฉายความสนุกตื่นเต้นขึ้นมาอย่างชัดเจน เหมือนรันเวย์และแฟชั่นโชว์คือสิ่งสำคัญที่ทำให้เสื้อผ้าของเขามีชีวิตขึ้นมาในใจผู้คน




“พอเราทำโชว์ คนก็จะค่อนข้างติดภาพว่า Theatre นี่คือโชว์บนรันเวย์ คือเป็นโชว์ที่น่าสนใจและมีคนตั้งใจรอดูโชว์  เรียกว่าประสบความสำเร็จทุกโชว์ก็ว่าได้ครับ คือทำโชว์มีคนดูเยอะ เสื้อผ้าดี ขายได้ด้วย พี่สนุกกับทุกโชว์ บางโชว์นี่คือละครเลย คือมีดราม่า มีนางแบบออกมาเป็นตัวละคร มาแอ็คติ้งกัน มีฉากต่างๆ มีเรื่องต่างๆ มีความเป็นละครเหมือนดูละคร”

เจ้าของโรงละครแห่งเสื้อผ้าเล่าถึงเรื่องราวในโลกแฟชั่นของเขาให้เราฟัง  พร้อมบอกว่ากำลังอยู่ในช่วงประกอบไอเดียสำหรับโชว์ใหม่ๆ ที่น่าจะสร้างสรรค์ความสนุกและเอกลักษณ์ความเยอะของ Theatre ไปได้อีกในมิติใหม่ๆ  ซึ่งแน่นอนว่าแฟนๆ เสื้อผ้าบนแคทวอล์กของ Theatre แบรนด์ระดับตำนานที่ไม่เคยล้าสมัย และยังคงยืนหยัดอย่างสง่างามในทุกวันนี้ได้อย่างแข็งแรง ย่อมต้องเฝ้ารอชมอย่างแน่นอน

และเมื่อให้คุณจ๋อมลองเลือกเสื้อผ้าที่อยากจะโชว์เป็นน้ำจิ้มให้เราดูก่อนแฟชั่นโชว์ประจำปีจะเริ่มขึ้น เราก็รู้เลยว่า ’ความเยอะ’ ในเสื้อผ้าของ Theatre นั้นเต็มไปด้วยความสนุกสนานที่พอเหมาะพอดี อย่างการมิกซ์แอนด์แมทช์ที่เอาเสื้อลายจับคู่กางเกงลายนั้น กลับดูไม่เยอะเลยในแง่ของแฟชั่น และนี่คงเป็นความยูนีคของแบรนด์ Theatre ที่แบรนด์อื่นๆ คงจะเลียนแบบได้ยาก






YOU MAY ALSO LIKE